วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555


           เมืองไทย ขึ้นชื่อสินค้าเกษตรไปทั่วโลก ข้าว ข้าวโพด  ยางพารา ผลไม้ รวมทั้งพืชผัก และที่สำคัญพืชผักสมุนไพร นานกว่าสามสิบปี วันนี้ ผู้ส่งออกผักผลไม้ไทย มีปัญหาการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าพืชผักสดไปยังสหภาพยุโรป (European Union: EU) 27 ประเทศ รวมนอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส เป็น 29 ประเทศ  กำหนดมาตรการควบคุมพิเศษการส่งออกผัก ๕ กลุ่ม ๑๖ ชนิด (๑. พืชกลุ่ม Ocimum spp. ได้แก่ กระเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า ๒. พืช  กลุ่ม Capsicum spp. ได้แก่พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู ๓. พืชกลุ่ม Solanum melongena ได้แก่ มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น ๔. พืช Memordica charantia ได้แก่ มะระจีน มะระขี้นก และ ๕. พืชกลุ่ม Eryngium foetidum ได้แก่ ผักชีฝรั่ง)ให้ผู้ส่งออกหรือโรงคัดบรรจุส่งออกพืชกลุ่มดังกล่าวไป ยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส  ต้องได้รับอนุญาตทะเบียนบัญชีโรงงาน (Establishment List :EL) กับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้นถึงจะสามารถส่งออกได้ ทั้งนี้ มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป  และจะเพิ่มเติม ในกลุ่ม EC 669 ใน ต้นปี ๒๕๕๔ ที่สุดพืชผักทุกชนิดจะต้องได้ EL.
การออกใบรับรอง Phytosanitary Certificate และ Sanitary Certificate ให้กับพืชทั้ง ๑๖ ชนิดจะต้องถูกควบคุมอยู่ภายใต้  Establishment List :EL  เท่านั้น  สินค้าทั้ง ๑๖ ชนิดนี้ที่ไม่มีใบรับรองแนบไปกับสินค้าจะถือว่า เป็นการลักลอบส่งออก และจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ถึงปัจจุบัน(๘ ธันวาคม ๒๕๕๔๗ มีผู้ส่งออกที่ได้รับ ELไม่ถึง ๑๐ ราย และไม่กล้าส่ง เพราะเจ้าหน้าที่สุ่มเปิดตรวจที่ด่านสนามบิน พบแมลงศัตรูพืช ยึด EL ถึงปลายทาง สุ่มตรวจพบแมลงศัตรูพืช ยึด EL ทำไมถึงเสี่ยงขนาดนั้น ในเมื่อมี EL แล้วกลัวอะไร? ทำไมผู้ส่งออกถึงไม่กล้าส่ง?  EL แก้ปัญหาได้จริงหรือ?  ทางออกควรทำอย่างไร? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ในทางทฤษฎีดูเหมือนง่ายไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้...
ทำไมผู้ส่งออกไม่กล้าส่ง? หลายคนที่เกี่ยวข้อง(ภาครัฐ)บอกว่าส่งกันแยะแยะ อันนี้ไม่รู้เอาข้อมูลที่ไหนมากล่าว... ลองย้อนกลับดูพื้นฐานของแมลงศัตรูพืชในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ร้อนจัด มีเพลีย มีแมลง มีหนอน พอฝนตกมีแมลง ชื้นก็มีเชื้อจุลินทรีย์ ใช้สารเคมีติดเรื่องสารพิษตกค้าง ที่สุดต้องอาศัยสายตาคนตรวจแมลงที่เล็กจิ๋วในใบโหระพา กระเพรา แต่ละชนิดมีที่อยู่ต่างกัน ตรวจแมลงที่อยู่ในในพริก ตรวจหนอนที่อยู่ในมะเขือ วัน ๆ ส่งกี่ราย รายละกี่สิบ กี่ร้อยกิโล ต้องพลิกดูทุกใบ ทุกก้าน ทุกเมล็ด นี่แหละที่ผมว่าทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หากส่งไป แจ๊คพอต โดนยึด EL และติดแบล็คลิส สุดท้ายถูกกล่าวหาว่าทำลายชื่อเสียง ทำลายความเชื่อมั่นประเทศชาติ
EL แก้ปัญหาได้จริงหรือที่ด่านเมืองไทยเปิดตรวจโดยใช้กล้องขยาย ขึ้นจอใหญ่ ปลายทางสุ่มตรวจพบ ก็ยึด EL พืชผักดังกล่าว “ต้องไม่พบแมลงศัตรูพืช (Zero Tolerance)” ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่?  นักกีฏวิทยา ยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นพืชในเขตร้อนชื้น(Tropical Zone) เมื่อเป็นไปไม่ได้ทำไมกฎระเบียบ (Regulation) จึงเป็นศูนย์ หรือ EL แก้ปัญหาในทางเทคนิค แต่ในทางปฏิบัติแก้ไม่ได้ หลายคนบอกฝรั่งไม่ยอม ฝรั่งอยู่ในเขตหนาว พอหน้าหนาวหิมะตก ตายหมด เลยเชื่อว่าในเขตร้อนชื้นก็ต้องไม่มีเหมือนกัน ใครควรแก้เรื่องสมมติฐานการคิดนี้ ผู้ส่งออก...เกษตรกร...หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง?
ทางออกจะทำอย่างไร? หลายคนแนะนำให้ปลูกในโรงเรือนเพื่อการส่งออก (กันไม่ได้ 100 %) มควัน (ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุน) ที่สุดต้องใช้สายตาคนตรวจ ในขณะที่มีพืชผักไทยดังกล่าวขายใน EU เกลื่อนตลาด มันมาจากไหน? บริษัทที่ได้ EL ส่งไปหรือ? คำตอบคือ มีส่วนน้อย แล้วที่เหลือมันมาจากไหน?
มีหลักฐานชัดเจนว่าผ่านมาเลย์ กรีนแลนด์ หรือบางส่วนที่เป็นเครืออาณานิคมของประเทศในสหภาพยุโรป นี่คือทางเลือกผู้ส่งออก หลายคนบอกขาดจิตสำนึก ขาดจริยธรรม หรือมีทางเลือกอื่นเหลืออยู่หรือ  รัฐป้องกันอย่างไร อย่าบอกว่านะว่าไม่ใช่หน้าที่ หรือจะปล่อยให้ผู้ส่งออกดี ๆ ล้มหายตายจากไป... แค่ ฝนตกทั้งปี ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ปิดสนามบินในยุโรป (เถ้าฝุ่นภูเขาไฟ) ปีที่ผ่านมาก็ช้ำสุดจะทน  ปีนี้น้ำท่วมโรงงานเสียหายกันอ่อมอรทัย เกษตรกรที่ทำพันธะสัญญาล่วงหน้า(Contact Farming) เสียหายหมด กระทบต่อผู้ส่งออก ลูกค้าย้ายไปซื้อที่อื่น...ใครตาย?
ใครควรเป็นเจ้าภาพในการสร้างงานวิจัยในภาพรวม หาแนวทางให้ผู้ส่งออก(สร้างรายได้เข้าประเทศ) และเกษตรกร(ผู้ผลิตหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน)เดิน หรือจะปล่อยให้ประเทศอื่นช่วงชิงตลาดที่เราครองมากกว่า ๓๐ ปี ไม่มีใครยื่นมือมาช่วย นักการเมืองไม่รู้จริง มีหน้าบอกให้เปิดตรวจ 100% แค่เปิดตรวจธรรมดา เชื้อจุลินทรีย์เข้าก็เป็นปัญหา แมลงศัตรูพืชหลงเข้าไปก็มีปัญหา  ใช้เวลานานเท่าไร ที่ต้องเปิดรอเจ้าหน้าที่ สินค้าเสียหาย ใครรับผิดชอบ ก็ผู้ส่งออกอีกนั่นแหล่ะ นี่แค่ตรวจสารพิษตกค้าง ตรวจเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เวลาหลายวัน ค่าใช้จ่ายสุดโหด ผักใบจะเก็บ และรอผลเพื่อส่งไปขายก็ไม่เวิร์คแล้ว 
ภาครัฐไปเจรจา หอบคำตอบง่าย ๆ กลับมา  ว่าควรทำ EL ทุกพืช ถามว่า...เคยให้หน่วยงานที่น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับ และเป็นกลางไม่มีผลได้ผลเสีย เช่น มหาวิทยาลัย ตั้งทีมงานวิจัยอย่างจริงจังทั้งระบบ Supply Chain เช่น EL มีปัญหาอุปสรรคในการจัดทำอย่างไร? ผลดีผลเสีย (ผลกระทบ) เป็นอย่างไร แนวทางแก้ไขทั้งภาคผู้ส่งออก เกษตรกรทำอย่างไร? นวัตกรรมใหม่ที่ทดแทนทั้งระบบผลิต โรงงานคัดบรรจุที่ได้ผลคืออะไร?  แนวทางการพัฒนางานอย่างนี้ไม่เคยทำ ไม่เคยถาม สรุปเองหมด ใครเดือดร้อนอย่างไรไม่รับรู้ อยู่สบายกันดีหรือ?
ประเทศไทยมีคนจำนวนมากเป็นเกษตรกร ผลิตสินค้าเกษตรส่งขายทั้งในและทั่วโลก เป็นครัวของคนไทย ครัวของคนทั้งโลก(จริงหรือ?)  แนวทางการเจรจาแบบผู้รู้ เจรจาต่อรองจริงจังแบบเขมรทำเรื่อง “ประสาทพระวิหาร” โดยมีผลงานวิจัยอ้างอิงอย่างชัดเจนสมบูรณ์ จัดหาทีมงานเจรจาแบบมืออาชีพ สร้างรูปแบบขบวนการ ขั้นตอน แผนงานที่ชัดเจนไปเจรจา หรือมูลค่ามันน้อย เลยไม่มีใครสนใจ “ไม่กระทบฐานเสียง” ไม่เหมือน ข้าว ปาล์ม ลำไย เดือดร้อน “ปิดถนน” หรือจะให้ทำอย่างนั้น!!!
ใครคือเจ้าภาพที่จะทำ? จะทำเมื่อไร? หรือจะปล่อยไว้ ให้ ใครอยู่...หรือใครจะไป...